
วันนี้ (13 มีนาคม 2562) นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานสัมมนา "ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย...ในอนาคต" พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การขับเคลื่อน Factory 4.0 and Circular Economy" โดยมีนายบรรจง สุกรีฑา นายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ร่วมเปิดงาน ณ โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน กรุงเทพฯ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า การที่จะช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน การลดปริมาณของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิต ที่ประสิทธิภาพต่ำ ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า และเกินความจำเป็น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดลดน้อยลงและหาได้ยากมากยิ่งขึ้น Circular Economy หรือ เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน จะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และการเติบโตในระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต โดยให้ความสำคัญครอบคลุม 4 ด้าน ดังนี้ 1) การผลิต (Manufacture/Production) โดยการส่งเสริมการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม(Circular product design) และการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพสู่นวัตกรรมการออกแบบตลอดห่วงโซ่ของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle) 2) การบริโภค (Consumption) โดยการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น (Reduce) ตลอดจนมีข้อมูลของผลิตภัณฑ์ 3) การจัดการของเสีย (Waste Management) โดยการปรับปรุงขั้นตอนการจัดการของเสีย และการลงทุนการจัดการของเสียในระยะยาว 4) การใช้วัตถุดิบรอบสองหรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบรอบสอง หรือการแปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ยังกล่าวต่ออีกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบาย Factory 4.0 ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย Factory 4.0 ใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1) ด้านโรงงานที่เน้นให้เกิดประสิทธิภาพและผลิตภาพ Productivity มุ่งเน้นการส่งเสริมให้โรงงานเป็น Smart factory โดยการนำเทคโนโลยดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น มีการขยายระบบอัตโนมัติขึ้นและเพิ่มระบบการบริการในตัวผลิตภัณฑ์ ตลอดจน การปรับบทบาทการกำกับดูแลให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกลดขั้นตอน ต้นทุนและระยะเวลา
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จะใช้ระบบกำกับดูแลโรงงานรูปแบบใหม่ ผ่านระบบการประเมินและรับรองตนเอง หรือ Self- Declaration การอนุญาตต่างๆ จะทำเป็นอิเล็กทรอนิกส์ การรายงานต่าง ๆ ผ่านทาง on line ร่วมกับการตรวจสอบโดย third party รวมทั้งการทำ Big Data หรือข้อมูล สารสนเทศขนาดใหญ่ผ่านระบบดิจิทัล
2) ด้านชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม การยกระดับ SMEs ผ่านกลไกศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Industrial Transformation : ITC) และกลไก Big Brother รวมทั้งดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชมุชน เช่น โครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) 3) ด้านสิ่งแวดล้อม จะส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้แนวคิด Circular Economy เช่น การนำของเสีย และวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม การใช้เทคโนโลยีรีไซเคิล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งแก้ไขปัญหาในเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคอุตสาหกรรม สามารถนำของเสียและวัสดุเหลือใช้มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น 4) ทรัพยากรมนุษย์ จะมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมการสร้างอาชีพและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้การสนับสนุนบุคลากรอาชีวศึกษา การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับแรงงานสูงอายุหลังเกษียณโดยการสร้างผู้ประกอบการใหม่วัยเกษียณ
นอกจากการสัมมนาแล้ว ยังมีการฝึกอบรมใน 4 หัวข้อที่น่าสนใจ คือ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อมในระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น 2) กฎหมายความปลอดภัยเกี่ยวกับสารเคมี 3) การถ่ายทอดแนวทางการรับรองตนเองของผู้ประกอบกิจการโรงงาน (Self-declaration) และการตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบเอกชน (Third party) 4) ประชาสัมพันธ์การใช้งานระบบสารสนเทศความปลอดภัยหม้อน้ำและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 4.0 เพื่อยกระดับความปลอดภัยหม้อน้ำ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 450 คน
ที่มา: สำนักบริหารกลาง...