แก้ไขสภาพแวดล้อมเมืองใหญ่ด้วย “หลังคาสีเขียว"

“ลดปัญหาโลกร้อน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้คนเมือง สร้างระบบนิเวศทางเลือกใหม่"

หลังคาสีเขียว (Green Roof)  อาจฟังดูเป็นเรื่องใหม่ในเมืองไทย หากแท้ที่จริงแล้วได้ถูกทำขึ้นมากว่าศตวรรษ  ในลักษณะปลูกหญ้าบนหลังคาบ้าน รวมถึงรูปแบบเรียบง่ายด้วยการวางไม้กระถางบนพื้นที่ดาดฟ้า ริเริ่มทำในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย  และมีให้พบเห็นในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น เพื่อใช้จัดการกับปัญหาระบบนิเวศในเมืองใหญ่  เกิดจากความต้องการพื้นที่สีเขียวในเมืองที่มีความหนาแน่นและแออัดมากขึ้น เพื่อปรับระบบนิเวศเมืองให้ดีขึ้น พร้อมควบคุมการจัดการน้ำฝนบนหลังคา ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนอันเนื่องมาจากความร้อนในเมือง 

ด้วยจุดประสงค์เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารให้คงที่  หลังคาสีเขียวช่วยจัดการน้ำฝนและกรองฝุ่นที่จะตกสู่ตัวอาคาร ที่สำคัญพันธุ์ไม้บนหลังคาสามารถเป็นฉนวนกันความร้อนและความหนาที่ถูกเพิ่มเติมจากดินที่ปลูกและวัสดุที่ดูดซับ ทำให้สามารถกันเสียงรบกวนภายนอกได้เป็นอย่างดี  

ระบบนิเวศบนหลังคาเขียวช่วยเพิ่มออกซิเจนและ คาร์บอนไดออกไซด์ให้กับเมือง พืชพันธุ์ที่มีชีวิตช่วยสร้างอากาศบริสุทธิ์ กรองฝุ่นละอองในอากาศ  ลดมลภาวะในเมืองใหญ่ แถมยังลดแสงสะท้อนจากหลังคาที่ไปกระทบอาคารข้างเคียงได้อีกด้วย

เราสามารถจำแนกหลังคาสีเขียวออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ หลังคาสีเขียวที่เป็นสวนหลังคา (Roof Garden) สามารถออกไปใช้สอยพื้นที่ได้ โดยปลูกพืชทั้งชนิดเล็กและชนิดใหญ่ได้ สามารถทำกิจกรรมต่างๆ บนหลังคาได้จริง  แต่ต้องทำชั้นดินที่หนาราวๆ 30 ซม. ขึ้นไป มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่า

และอีกประเภทคือ หลังคาสีเขียวที่เน้นการปลูกพืชพันธุ์บนหลังคา ไม่ได้เน้นที่ประโยชน์ใช้สอย เน้นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ใช้พืชพันธุ์ขนาดเล็ก และมีความหนาของดินเพียง 1-5 นิ้ว เช่นจำพวกหญ้า หรือพืชคลุมดินที่ไม่โต และไม่ต้องการดินมากนัก

เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านโครงสร้างดิน ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนการสร้าง Green Roof คือน้ำหนักของโครงสร้างอาคาร และระบบระบายน้ำที่ดี ควรมีระบบ overflow  และระบบกันซึมที่พื้นคอนกรีตและอาคารที่ต้องได้มาตรฐาน  แม้แต่การวางตำแหน่งต้นไม้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งคาน และทิศทางแรงลมบนหลังคาสูงก็เป็นข้อจำกัดที่ต้องคำนึงถึงเสมอ

ดังนั้น  ประเทศไทยจึงยังมีข้อจำกัดด้วยเป็นพื้นที่เขตมรสุม มีความร้อนสูง ฝนตกหนัก การทำ Green Roof  จึงอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก โดยเฉพาะกับอาคารเก่าที่ไม่ได้มีโครงสร้างที่เหมาะสม  แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคนเมืองต้องการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เพิ่มระบบนิเวศที่ดีก็ยังสามารถกระทำได้ไม่ยุ่งยาก เริ่มต้นด้วยการเลือกตกแต่งดาดฟ้าเป็นสวนกระถางหรือเลือกใช้เป็นพวกไม้เลื่อยก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี 

          อ้างอิงที่มาข้อมูล

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7

http://www.bareo-isyss.com/decor-guide/305-green-roof.html

http://thaicityfarm.com/autopagev4/show_page.php?topic_id=534&auto_id=47&