รองปลัดฯ ณัฏฐิญา ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เร่งติดตามการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างจุดเด่น เน้นจุดขาย เจาะตลาดกลุ่มพรีเมี่ยมระดับสากล พร้อมแนะพื้นที่ชี้เป้าพัฒนาอุตฯ ให้ตรงจุดตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล
จังหวัดขอนแก่น : วันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น. นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามเร่งรัด การใช้จ่ายงบประมาณของสถาบันเครือข่าย กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Slik) ภายใต้โครงการยกระดับสถานประกอบการและการปรับปรุงกระบวนการผลิตผ้าไหมเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน ของอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยมีนางศิริพรรณ อันชื่น อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น (อสจ.ขอนแก่น) นางรุ่งอรุณ เปี่ยมปัจจัย นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการพิเศษ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.5 กสอ.) ให้การต้อนรับ และมีนายวิวัฒน์ หิรัญพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและการตลาด นายปุณณรัตน์ มณีบุตร หัวหน้างานนโยบายและกลยุทธ์ นางสาวพิมใจ จำปาศรี เจ้าหน้าที่นโยบายและกลยุทธ์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำเสนอสรุปผลการดำเนินโครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย ณ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น
โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) ปีงบประมาณ 2566 ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้รับงบอุดหนุนจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (สปอ.) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของไทยไปสู่ระดับสากล โดยการออกแบบและผลิตผ้าไหมร่วมสมัยแบบใหม่ ที่เน้นการนำทุนทางวัฒนธรรมและแนวโน้มตลาดให้มีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ รวมถึงการยกระดับสถานประกอบการและชุมชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด (ขอนแก่น นครราชสีมา หนองบัวลำภู กาฬสินธ์ุ และสุรินทร์) จำนวน 8 ราย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยปรับปรุงการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการแปรรูปสินค้า มีการออกแบบให้สอดคล้องกับตลาดและแฟชั่น พร้อมเชื่อมโยงการผลิตจากชุมชน หรือ Local สู่ภาคอุตสาหกรรม
สำหรับแนวทางการพัฒนาผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมขิด ผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมบาติก และผ้าไหมแต้ม มุ่งเน้นการนำเทคนิคการผลิตผ้าไหมในรูปแบบใหม่ ผสมผสานการทอด้วยลวดลายที่มีความประณีตสวยงาม (story-material-look & feel) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นกว่า 50% โดยการสร้างภาพลักษณ์ที่ดูหรูหราและคุณภาพสูง พร้อมยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยไปสู่ระดับพรีเมี่ยม (Premium & High Quality) เน้นความเป็นไทย CULTURAL & IDENTITY และโดดเด่นด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า FUNCTION & TECHNOLOGY ความหรูหราและคุณภาพสูง Premium & High Quality แต่ยังคงใช้สีสันสะท้อนความเป็นธรรมชาติในท้องถิ่น (ทอง/เงิน) โดยมีเป้าหมายในการขยายตลาดสู่ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี เจาะกลุ่มวัยทำงาน ผู้ที่สนใจในผ้าไหมไทยที่มีกำลังซื้อสูง
ทั้งนี้ นายวิวัฒน์ หิรัญพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและการตลาด กล่าวถึงการทำงานร่วมกับ สอจ.ขอนแก่นอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินงานภายใต้หลักการ คือ 1) ราคา (Price) ผ้าไหมที่มีราคาสูง เพราะใช้ทักษะช่างฝีมือหัตถกรรม 2) การวางตำแหน่งผลิตภัณฑ์เพื่อแสดงจุดยืนของผลิตภัณฑ์ (Positioning) คือ ความพรีเมี่ยม เข้าไปจำหน่ายในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ชาวต่างชาติให้ความสนใจ ส่วนด้านการตลาดได้สร้างความร่วมมือและเชื่อมโยงกับทางต่างประเทศ โดยได้มีการเจรจาเชื่อมโยงการผลิต - การตลาดที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเปิดตลาดใหม่จากผ้าไหมไทย และในเดือนกรกฎาคมนี้ ได้มีแผนเตรียมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และนำเสนอผลงานในระดับนานาชาติ "เมกาโชว์" ณ ไบเทคบางนาด้วย
รองปลัดฯ ณัฏฐิญา ได้มอบนโยบายว่า เนื่องจากการดำเนินงานโครงการฯ ของ สปอ. มีการกระจายไปยัง สอจ. ทั่วประเทศ ทำให้การติดตามผลการดำเนินการ และผลผลิต อาจยังยังไม่ไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงควรมีหน่วยงานจากส่วนกลางทำหน้าที่รวบรวมผลการดำเนินงาน เพื่อต่อยอดนโยบายของ อก. และเกิดความเชื่อมโยงในพื้นที่มากยิ่งขึ้น ส่วนในด้านการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรมีการยกระดับ Green Productivity มุ่งเน้นการออกแบบที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ พร้อมเชื่อมโยงนโยบาย MIND เช่น มิติที่ 1 ความเติบโตทางธุรกิจ ควรดำเนินการเพื่อมุ่งพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าสูง เจาะกลุ่มตลาดพรีเมี่ยม และมีการเชื่อมโยงไปสู่มิติที่ 4 กระจายรายได้สู่ชุมชน ส่วนในมิติที่ 2 การดูแลสังคมโดยรอบ ต้องพยายามให้ชุมชนมีรายได้ มีอาชีพที่มั่นคง มีการพัฒนาวัตถุดิบ ฝีมือ และการสร้างมูลค่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ในด้านการส่งเสริมและพัฒนาควรมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สอจ.ขอนแก่น กับ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 เพื่อพัฒนาการออกแบบ และการนำเทคโนโลยีเข้าใช้ให้มากยิ่งขึ้นด้วย
ด้าน อสจ.ขอนแก่น ได้รายงานโครงสร้างบุคลากรของ สอจ.ขอนแก่น ปัจจุบันมีบุคลากร 33 คน พร้อมทั้งรายงานข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ (GPP) เป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ตลอดจนภาพรวมอุตสาหกรรม โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ 911 โรงงาน สาขาอุตสาหกรรมที่มีโรงงานมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมอโลหะ อาหาร ขนส่ง เกษตร และและผลิตภัณฑ์โลหะ มีการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) จำนวน 553 โรงงาน คิดเป็นร้อยละ 69.56
ทั้งนี้ รองปลัดฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะการใช้งบประมาณสาธารณูปโภคที่ไม่พอเพียง โดยให้บริหารจัดการงบประมาณให้เป็นไปตามคำขอ ถ้าไม่เพียงพอก็ต้องของบประมาณไปยังกรมบัญชีกลางใหม่ อย่างไรก็ดีได้มอบหมายให้กองบริหารทรัพยากรบุคคล สปอ. ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านการคำนวณต้นทุนแล้ว ส่วนการดำเนินงานในพื้นที่ควรดำเนินการในอุตสาหกรรมที่สอดคล้องและตอบโจทย์กับนโยบายรัฐบาล นอกจากเกษตรอุตสาหกรรมแล้วยังมีอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ ท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น โดยเน้นย้ำการดำเนินการตามนโยบาย MIND ทั้ง 4 มิติ สะท้อนให้เห็นภาคอุตสาหกรรมเข้าไปดูแลชุมชน โรงงานอุตสาหกรรมมาช่วยให้ชุมชนนำผลิตภัณฑ์จากชุมชนมาจำหน่ายในโรงงาน ผ่านกิจกรรมอุตสาหกรรมแฟร์ ส่วนเรื่องร้องเรียนโรงงาน ตามที่ท่านปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน โดยเน้นย้ำในเรื่องการตรวจโรงงานที่ถูกร้องเรียน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานต้องใช้หัวและใจในการทำงานเยอะๆ โดยให้นึกถึงว่าถ้าเราเป็นเขาเราอยู่ได้ไหม ใช้ใจในการกำกับดูแลโรงงาน ส่วนเรื่องการจัดทำแผนการดำเนินงานนั้น สอจ. ควรจัดทำแผนพัฒนาในระดับภาค เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมายต่อไป